top of page

PEOPLE : Ting Chu

เราหลงรักผลงานของถิงตั้งแต่แรกเห็นภาพวาดของเธอ ที่วางตกแต่งอยู่ในร้าน Good Food Good Soul จนมีโอกาสได้พบเจ้าของผลงานตัวจริงโดยบังเอิญ ที่งานเวิร์คชอปทางศิลปะ ณ 31st Century Museum of Contemporary Spirit ที่ถิงช่วยดูแลอยู่ หลังจากที่ได้พูดคุยกัน เราขอนัดสัมภาษณ์ถิงด้วยอยากให้งานของถิงเป็นที่รู้จัก น่าจะมีใครอีกหลายคนชอบผลงานของถิงเหมือนเราแน่ๆ ถิงรับคำนัดอย่างยินดีโดยเชื้อเชิญให้ไปนั่งคุยกันที่เรือนไม้หลังเล็กร่มรื่นย่านร่ำเปิงที่เธอใช้เป็นสตูดิโอสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรม และในวันนี้เราได้มาพบกับศิลปินสาวคนนี้ตามนัด เราสัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณแห่งโลกตะวันออก จากผลงานต่างๆของถิง ทีแรกคิดว่าเป็นสไตล์ความชอบส่วนตัว แต่ความจริงแล้วจะพูดว่าสิ่งเหล่านั้นอยู่ในสายเลือดของเธอเองก็คงไม่ผิดนัก เราเพิ่งทราบว่าถิงไม่ใช่คนไทยโดยกำเนิด เธอจากไต้หวันมาอยู่เมืองไทยตามครอบครัวตั้งแต่อายุ 11 ปี ถิงเปิดใจว่าตอนเด็กๆเธอค่อนข้างเก็บตัวและมีโลกส่วนตัวสูง มักขลุกอยู่กับหนังสือการ์ตูนจนเข้าขั้นโอตาคุ การปฏิเสธผู้คนในโลกความเป็นจริง ทำให้เพื่อนๆมองเธอด้วยแววตาที่แปลกแยก และค่อยๆหายไปจากชีวิตเธอทีละคน ท้ายที่สุดเด็กหญิงถิงชูก็เหลือเพียงหนังสือการ์ตูนเป็นเพื่อน เธอเริ่มจับดินสอพู่กัน วาดรูปตามหนังสือการ์ตูนเพื่อนรัก ตอนนั้นเองที่พรสวรรค์ซ่อนเร้นได้ถูกปลดปล่อย เธอรักและทำงานศิลปะเรื่อยมานับตั้งแต่บัดนั้น ถิงผ่านการทดลองทำงานศิลปะหลายๆสไตล์เพื่อค้นหาตัวเอง แต่ท้ายที่สุดกลับพบว่าเธอมีสิ่งนั้นอยู่แล้วโดยไม่ต้องค้นหา เพียงปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติตามที่ใจจะพาไป ผลงานของถิงจึงมีความเป็นธรรมชาติสูง ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วอาจไม่ได้เนี้ยบสมบูรณ์แบบ แต่ในทุกลายเส้นทุกฝีแปรงนั้นเรียบง่ายอ่อนหวานแต่ทว่าชัดเจนมั่นใจ จะสดใสหรือเหงาเศร้าล้วนเป็นไปตามอารมณ์และจินตนาการที่ตั้งใจถ่ายทอด เมื่ออาชีพศิลปินดูจะเป็นอาชีพที่ไม่มีอนาคตในสายตาของคนในครอบครัว ถิงจึงต้องเลือกเรียนทางด้านอื่นเพื่อความสบายใจของพ่อแม่ การไม่ได้รับการส่งเสริมในวันนั้น กลับก่อให้เกิดแรงผลักดันจากภายใน เพื่องานศิลปะที่เธอรักยิ่งต้องพยายามมากกว่าเดิม และถิงก็พิสูจน์ตัวเองจนได้รับการยอมรับแล้ว นอกจากพรสวรรค์และพรแสวงที่เปี่ยมล้นแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่เราชื่นชมในตัวถิงคือการเป็นผู้มองเห็นโอกาส และมองเห็นความโชคดีในความโชคร้ายได้เสมอ ถิงมีดวงตาที่มองโลกในแง่จริงอย่างสร้างสรรค์ “...การที่ไม่ได้เรียนสายศิลปะทำให้เราไม่มีพื้นเรื่องหลักการกับทฤษฏีอะไรเลย บางครั้งก็รู้สึกด้อยตรงการใช้สีกับการใช้ medium ต่างๆ คิดว่าถ้าได้เรียนน่าจะดี โดยเฉพาะตอนที่เราไม่เข้าใจอะไรก็ไม่มีใครให้ถาม แต่มันก็มีข้อดีคือเราไม่ต้องเอาใจใคร หรือส่งการบ้านเพื่อคะแนน เลยได้ทดลองและทำอะไรได้เต็มที่โดยไม่ต้องกลัวการตัดสินจากผู้อื่น มันก็อิสระดีและได้ทำอะไรหลายอย่างที่อยากทำ แต่การได้เรียนสื่อสารเปลี่ยนเราให้คิดและสื่อสารได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ สามารถฟังและจับใจความคนอื่นและอธิบายต่อได้ ตอนนี้ที่ช่วยงานศิลปินอยู่ก็ได้ใช้จุดนี้เยอะมาก มันมีผลต่อความคิดและการทำงานของเรามาก" “...ถิงเป็นคนที่เพื่อนน้อย ไม่ค่อยมีใครคบ เราเลยได้เลือกเพื่อนแท้เพียงไม่กี่คนและปล่อยที่เหลือที่เขาไม่ใช่เคมีเดียวกับเราไป โชคร้ายที่มีเพื่อนน้อย แต่โชคดีที่ได้เพื่อนดี" “...จุดเปลี่ยนในชีวิตถิงมันเยอะมากค่ะ เพราะต้องเดินทางเยอะและย้ายถิ่นฐานบ่อยตั้งแต่เด็ก แต่ละครั้งก็เข้มข้นไม่แพ้กัน แต่การเปลี่ยนตัวเองจากภายในเลย เห็นจะเป็นตอนที่ได้เจออาจารย์ประมวล กับตอนที่ได้ไปเรียนทำบ้านดินกับพี่โจน จันไดค่ะ การเจออาจารย์ เปลี่ยนเราตรงความแข็งกร้าวและการพยายามตั้งการ์ดป้องกันตัวของเรา เขาทำให้เราพบโลกใบใหม่ผ่านวิธีมองโลกของเขา ทุกอย่างดูเป็นมิตรและไม่น่ากลัว เป็นจุดเปลี่ยนที่ทรงพลัง มากส่วนพี่โจ กับชุมชนและกระบวนการสอนของเขา เปลี่ยนเราจากคนขี้โรค กลัวไม่มีเงินหรือไม่มีความมั่นคง หลักทรัพย์ หลักประกัน และอะไรต่างๆมากมาย ให้เกิดความไว้วางใจตัวเองกับผืนโลก ว่าเราไม่ต้องกังวลสิ่งเหล่านั้นเลย เราทำได้ด้วยสองมือของเราจริงๆ ช่วงทำบ้านดินของตัวเอง ก็แทบไม่มีเงินเหลือเลย บางเดือนมีเงินติดกระเป๋ากินข้าวอยู่ไม่เกินห้าร้อยบาท แต่เป็นช่วงที่มีความมั่นใจและสบายใจกับตัวเองมาก ไม่คิดว่าจะอดตาย เพราะเราปลูกกินได้ มันไม่ยากอย่างที่เราเคยคิด และเราก็ไม่ได้อยู่ในถิ่นที่กันดารอย่างคนในหลายพื้นที่ของโลก เรายังต้องกังวลอะไรมากมายอีก เป็นช่วงหกเดือนที่ให้ความรู้สึกใหม่กับตัวเองจริงๆ ตั้งแต่นั้นมา ถ้าไม่มีงานหรือเงินก็ไม่วิตก ยังไงก็ไม่อดตาย ต่อมาเราเลยสามารถเลือกและทำงานที่เราชอบได้อย่างแท้จริง ไม่ต้องจำยอมจนเสียความเป็นตัวเอง การได้เจอคนที่น่ามหัศจรรย์หลายๆคนในชีวิตนี้อย่างอ.ประมวลหรือกลุ่มชุมชนพี่โจ ถือว่าเป็นบุญและวาสนาจริงๆค่ะ" หลังจากสำเร็จการศึกษาด้านสื่อสารมวลชน เอกหนังสือพิมพ์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถิงผ่านการทำงานในระบบบริษัทมาบ้าง แต่เมื่อพบว่าสิ่งนั้นไม่ใช่ที่ทางของเธอ ถิงจึงเลือกที่จะเดินออกมาสู่หนทางที่เธอขีดเส้นเอง ปัจจุบันถิงเป็นศิลปินอิสระ (เธอพูดอย่างถ่อมตนว่า"รับจ้างทำงานทั่วไปค่ะ”) ทำทั้งงานวาดภาพประกอบให้หนังสือ วาดportrait งานออกแบบกราฟฟิค งานปั้นเซรามิค งานแปล และงานจิปาถะมากมายตามโอกาส ติดตามผลงานผลงานถิง ชู ได้ที่เพจ Turquoiseting (เทอร์ควอยซ์ถิง / สีโปรด+ชื่อ)

"..ชื่อ 'ถิง' ตามที่พ่อแม่ตั้งใจให้เป็นคือสวยสง่าอ่อนช้อย ซึ่งตลอดเวลาที่โตมาก็ไม่เคยได้อย่างที่เขาหวังเลย (หัวเราะ) แต่อีกความหมายของคำว่าถิงก็คือศาลา แม่บอกว่าเป็นชื่อที่เพื่อนของปู่คนหนึ่งช่วยตั้งให้ ในอดีตตอนที่คนจีนเดินทางกัน มักจะพักผ่อนตามศาลาพวกนี้ เหมือนที่เมืองไทยก็มีศาลาเป็นที่พักที่สังสรรค์ ที่นัดพบและให้กำลังกับคนอื่น ปู่คนนั้นบอกว่าอยากให้เราก็เป็นเด็กที่โตมาเป็นสิ่งนั้นสำหรับผู้อื่น และพึ่งพาตนเองได้ อยู่คนเดียวได้ตอนที่ผู้คนจากไป ความหมายนี้รู้สึกให้กำลังใจตัวเองมากทีเดียว แต่ทำได้หรือไม่ได้ก็ค่อยว่ากัน (หัวเราะ)”

“...ถ้ามีคนถามก็จะตอบว่าเป็นคนที่มาจากไต้หวันแต่อยู่เมืองไทยนานแล้ว เพราะเคยตอบว่ามาจากกรุงเทพบ้าง เชียงรายบ้าง ตามแต่ละที่ที่เราเคยอยู่ แล้วคนฟังมักเกิดความคาดหวังว่าเราจะ deliver อะไรที่เป็นตามพื้นที่นั้น ซึ่งเราก็ทำไม่ได้ อย่างพูดคำเมือง หรือรู้จักสถานที่นั้นๆอย่างดี เลยตอบว่าเป็นไต้หวันไปเลย มันเข้าใจง่ายดี หะหะ แต่จริงๆตอนนี้ได้สัญชาติไทยแล้ว ก็นับว่าเป็นคนไทยได้นะคะ(ยิ้ม)"

“...ถิงเป็นคนที่เพื่อนน้อย ไม่ค่อยมีใครคบ เราเลยได้เลือกเพื่อนแท้เพียงไม่กี่คนและปล่อยที่เหลือที่เขาไม่ใช่เคมีเดียวกับเราไป โชคร้ายที่มีเพื่อนน้อย แต่โชคดีที่ได้เพื่อนดี"

“…สมัยที่ยังเรียนม.6 แล้วมาส่งพี่สาวสอบสัมภาษณ์ที่มช. เห็นแล้วรู้สึกอึ้งกับมหาลัยมาก เป็นที่ที่ร่มรื่น ใหญ่โต ต้นไม้เยอะมาก เป็นครั้งแรกจริงๆกับการได้ไปอยู่มาหลายที่แล้วรู้สึกว่าอยากมาอยู่ อยากมากจนพอสอบติดก็ดีใจสุดๆ ยิ่งได้มาอยู่ก็ยิ่งชอบ มันมีความลงตัวทางด้านธรรมชาติกับความเป็นเมืองอยู่ คือมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย แต่ถ้าอยากไปเที่ยวภูเขาก็ขี่รถไม่เกินห้านาทีก็ถึงได้ ปกติที่อื่นมันต้องเลือกว่าจะอยู่เมืองใหญ่ทันสมัย หรืออยู่ท่ามกลางธรรมชาติดี รู้สึกเชียงใหม่มีทั้งสองอย่างครบสำหรับตัวเอง เพราะเราขาดไม่ได้ทั้งสองอย่าง

“...ศิลปินคนโปรดก็มีเคล้ากันไปเยอะเลยคะ ตั้งแต่นักวาดการ์ตูนญี่ปุ่นอย่างคนวาดเรื่องมูซาชิ นารูโตะ One Piece และการ์ตูนตาหวานอีกหลายคน (นึกชื่อ) จำชื่อไม่ได้ (หัวเราะ) จนถึงศิลปินนักวาดภาพประกอบอย่าง Norman Rockwell, E.H.Shepard, Jill Barklem ตอนเริ่มวาดสมัยเด็กก็ได้รับอิทธิพลแบบมังงะของญี่ปุ่นแน่นอน เพราะเป็นสื่อหลักที่เสพอยู่ แต่พอโตขึ้นก็เริ่มสนใจภาพประกอบของสายตะวันตก ที่มี anatomy แน่นๆและการใช้สีที่แปลกจากที่เราเคยเห็นมา เลยเริ่มหัดวาดตามแต่ยังไม่อยากทิ้งที่ตัวเองคุ้นเคยอยู่ แล้วค่อยๆปรับมาเป็นตามที่วาดอยู่ทุกวันนี้"

"..ตอนนี้อยากปั้นคนแก่กับเด็กค่ะ เพราะเวลาวาดมันง่ายและสนุก แต่ไม่เคยได้ลองปั้น นอกจากปั้นคนหรือสัตว์ ถิงก็อยากลองปั้นสถาปัตยกรรม หรือบ้านเรือนเมืองเล็กๆ น่าจะสนุกดี"

“...ตอนนี้กำลังทำงานปั้นเพื่อเก็บไว้แสดงงานค่ะ หวังว่านะคะ(หัวเราะ) จะเป็นการรวบรวมความรู้สึกที่มีกับโลกในมุมมองของเราค่ะ มีงานวีดีโอที่ทำกับเพื่อน กำลังวางแผนจะถ่ายทำเพื่อนอีกคนที่เป็นศิลปิน กำลังเรียนและทำแอนิเมชั่นง่ายๆ เพื่อย่อข้อมูลยากๆให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายๆ อย่างประเด็นเรื่องอาหารกับสิ่งแวดล้อม และเรื่อง climate change"

“…ตอนนี้ชอบงานปั้นมากค่ะ มันเป็นสิ่งที่มีมิติให้เราได้ค่อยๆเห็นมันเติบโตขึ้นมาจากมือของเราตอนปั้นอยู่ เหมือนเราไม่ได้วาดเส้นแล้วได้ตามที่ตาเห็น แต่การปั้นจะมีฟอร์มกับแบบของมันเองที่เราต้องให้ความร่วมมือกับมัน มากกว่าควบคุมกระบวนการทั้งหมด มันดูเหมือนมีชีวิตของมันเอง"

“...ตอนนี้สิ่งที่อยากทำ ก็ได้ทำเกือบหมดแล้วค่ะ แต่ที่ยังไม่ได้ทำน่าจะเป็นการลงลึกกับแต่ละอย่างให้มากขึ้น รู้สึกตัวเองยังตื้นเขินอยู่ในหลายๆด้าน"

“หลงอะไรในเชียงใหม่.. หลงคูเมือง วัด เจดีย์ มช. ดอยสุเทพ กาดหลวง แล้วก็หลงอากาศช่วงหน้าฝนกับหน้าหนาว แม้จะมีหมอกควันอย่างน่ากลัวและอันตราย แต่ถึงขั้นนั้นก็ยังหลงเชียงใหม่จนให้อภัยได้ (หัวเราะ)”

“...มีคนหนึ่งที่ทำให้นึกถึงตลอดทั้งช่วงที่ดีและแย่ เหมือนคุยในใจกับเขาอยู่เรื่อยๆ ก็คืออาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ เคยเรียนกับอาจารย์สมัยมหา'ลัย แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงกับตัวเองมาก ผ่านช่วงของการค้นหาตัวเองมาอย่างไม่ยากลำบากนักก็เพราะอาจารย์ เขาทำให้เราเห็นด้วยตัวเองจริงๆว่าเราแต่ละคนมีศักยภาพที่จะข้ามพ้นข้อจำกัดของตัวเองทั้งภายในและภายนอกได้ เขาไม่เคยสอนแบบเทศนา แต่ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง หลายครั้งที่วาดรูปหรือทำงาน จะมีอารมณ์ที่เมื่อนึกถึง จะทำให้วาดออกมาได้อย่างสบายใจ ไม่ตัดสินตัวเอง"

“…ที่สนใจแนวคิดของเต๋าก็คือการทำให้เรารู้ถึงการยอมรับและไม่ขัดขืนกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น จะดีหรือร้ายมันก็ยังคงอยู่ในเต๋า การไม่ตัดสินหรือให้คุณค่ากับสิ่งที่เป็นที่เกิดขึ้นทั้งหมด จริงๆมันก็หลักการเดียวกับหลายศาสนาโดยเฉพาะพุทธ คือมองแบบอุเบกขา ไม่ดึงเข้า ไม่ผลักออก ในหนังสือที่แปลอยู่นี้ก็เป็นคติแบบนี้แต่เป็นการนำมาปรับใช้สำหรับคู่รัก เล่มก่อนหน้านี้ที่แปลและวาดภาพประกอบให้ด้วยคือหนังสือสำหรับพ่อแม่ในการเลี้ยงดูลูก(พ่อแม่เต้าเต๋อจิง) ทั้งสองเล่มนี้ใช้แนวความคิดของเต๋ามาอธิบายสิ่งที่เรามองข้ามหรือยึดถืออยู่ได้ดีมาก ดีใจที่ได้ทำ เพราะเนื้อหามันเตือนสติเราและให้เครื่องมือเราในการผ่านสิ่งต่างๆในชีวิตประจำวันได้ ถึงจะไม่ใช่สำนักพิมพ์ใหญ่โต แต่ดีใจที่ได้ทำกับสำนักพิมพ์ปลากระโดดจริงๆค่ะ”

ก่อนการสนทนาของเราจะจบลง ถิงฝากถ้อยคำความในใจให้เราเป็นกระบอกเสียงเพื่อส่งผ่านไปถึงเพื่อนร่วมทางสายงานอิสระ (freelance) ไว้อย่างกินใจ จนเราไม่อยากตัดทอนแม้แต่คำเดียว “ อยากให้กำลังใจและยืนยันกับคนที่ทำงานอิสระอยู่ โดยเฉพาะคนที่เพิ่งเริ่มหรือคิดอยากมาสายนี้ว่า ทำไปเรื่อยๆอย่ากังวลหรือตัดสินตัวเองกับเหตุการณ์มาก เพราะไม่มีใครรู้จริงๆว่าอะไรคือคำว่าสำเร็จ เรานิยามมันไม่เหมือนกัน และไม่ควรเอานิยามของแต่ละคนมาเปรียบเทียบกัน เพราะมันคนละชีวิตกันเลย บางคนได้ทำงานที่ชอบก็ถือว่าเป็นความสุขแล้ว บางคนมีรายได้ดีแม้ไม่ได้ทำงานที่ชอบแต่ก็มีความสุขได้เหมือนกัน อยากให้เรามั่นใจพอที่จะออกแบบนิยามของเราเอง ในเมื่อเราเลือกสายนี้แล้ว สายที่มีอิสระที่จะรับงานเองได้ ถ้าเราไม่กังวลหรือวิตกโดยเฉพาะทางด้านการเงิน ไม่ต้องคอยเอามันมาบีบคั้นตัวเอง งานเราจะเติบโตและมีเอกลักษณ์มากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนที่มีข้อจำกัดทางด้านการเงินหรือเป็นหนี้อยู่ก็ย่อมลำบากกว่า อาจต้องหางานอื่นมาเสริมไปด้วยเพราะในสายนี้เราต้องพึ่งพาตัวเองให้มากๆ จึงต้องยิ่งเชื่อใจตัวเองและให้โอกาสตัวเองมากๆด้วยเช่นกัน จะพลาดบ้างหรืออดบ้างก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร มันไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน แต่ทำไปเรื่อยๆเราจะรับมันได้ง่ายขึ้น และประเด็นนี้ก็เชื่อมไปยังเรื่องการสร้างสรรค์งานกับการได้รับแรงบันดาลใจด้วย ถ้าเราคิดแค่เรื่องจะทำให้ขายงานได้ แม้ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายแต่ถ้ามากไปก็จะทำให้เราไม่มีโอกาสทดลองตามแนวตัวเอง เราจะต้องคอยดูตลาดและประนีประนอมกับความต้องการของคนอื่นเสมอ และเผลอๆไปเอาความคิดคนอื่นมาทำแทนที่จะสร้างสรรค์ของตัวเอง สมัยเด็กตอนเรียนโรงเรียนไทยครั้งแรก รู้สึกแปลกใจที่คนส่วนใหญ่ไม่ยกมือตอบครูกัน รู้สึกไม่คุ้นเลย เพราะที่เคยเรียนมา มีแต่แย่งกันยกมือตอบ จะรู้คำตอบหรือไม่ ก็อยากแสดงความคิดเห็นของตัวเอง และไม่คิดว่าเป็นเรื่องแย่ที่ไม่รู้ เพราะถ้ารู้ก็คงไม่ต้องมานั่งเรียนกัน จึงคิดว่าการศึกษามีผลต่อวิธีทำงานมาก คนไทยมักไม่กล้าตอบปัญหาถ้าคิดว่าตัวเองไม่รู้จริง เลยต้องเลือกทางออกที่ปลอดภัยไว้ก่อน และเสียโอกาสที่จะแสดงความเห็นที่หลากหลายหรือเรียนรู้ที่จะรับฟังคำตอบที่ไม่จำเป็นต้อง"ถูกต้อง"เสมอไป เราจึงมักเผชิญหน้ากันอย่างสร้างสรรค์ไม่ได้ เพราะเราเชื่อกันไปแล้วว่ามันมีคำตอบที่ถูกต้อง แต่ความหมายนั้นของทุกคนไม่เหมือนกันเลย และไม่สามารถให้ constructive comment ที่ไม่เสียความรู้สึกกันได้พอจะทำงานอะไรก็ต้องดูคนอื่นว่าเขาทำกันยังไงก่อนที่จะถามตัวเองว่าอยากเริ่มยังไง ทำออกมาก็ต้องทำให้มัน"ดีพอ" และวัดค่ากัน อยากเห็นงานที่มีความหลากหลายเยอะๆในแวดวงคนผลิตงานสายนี้ กล้าที่จะลองหรือทำมันออกมาแทนที่จะกลัวว่าแป้กหรือไม่เป็นที่ยอมรับ ไม่ต้องรอให้ใครทำก่อนแล้วพอดูว่ามันจะทำกันได้ สังคมยอมรับหรือขายได้ ก็ทำตามกันหมด จนเสียโอกาสที่จะให้สังคมเห็นงานในแบบของตัวเอง เราคอยมองกระแสสังคมได้ แต่อย่ามากจนเสียสมดุล"

RECENT POSTS:

SEARCH BY TAGS:

ยังไม่มีแท็ก
    bottom of page